ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ 5 สูตรปุ๋ยอินทรีย์น้ำคุณภาพสูง
ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ หรือที่เราเรียกกันว่าน้ำหมักชีวภาพ หมายถึง ปุ๋ยที่ได้จากการนำวัสดุจากธรรมชาติมาผ่านกระบวนการหมักในรูปของเหลวโดยใช้จุลินทรีย์เป็นตัวย่อยสลาย ซึ่งสูตรการทำน้ำหมักชีวภาพหรือปุ๋ยอินทรีย์น้ำ มีหลายสูตรที่นิยมผลิต เพื่อใช้ในการทำเกษตรอินทรีย์หรือใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีเพื่อเป็นการเสริมธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริมให้กับพืช
ประโยชน์ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ
ประโยชน์ของปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่เห็นได้ชัดคือ สะดวกต่อการใช้งานเพียงแค่นำปุ๋ยอินทรีย์น้ำมาเจือจางในน้ำเปล่าตามอัตราส่วนที่กำหนดแล้วทำการฉีดพ่นให้พืชหรือลดลงดินบริเวณโคนต้นพืช นอกจากความสะดวกในการใช้งานแล้ว ปุ๋ยอินทรีย์น้ำยังมีความปลอดภัยทั้งต่อผู้ใช้ ต่อพืช และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำเมื่อเทียบกับการใช้ปุ๋ยเคมีสำหรับผู้ที่ไม่มีความเชียวชาญในการใช้ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์น้ำน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีตัวหนึ่ง เพราะด้วยความสะดวกในการใช้งานและผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญหรือมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องปุ๋ยมากนัก สำหรับผูที่ชื่นชอบการปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานเอง แนะนำให้หาปุ๋ยอินทรีย์น้ำมาใช้งานนอกจากสะดวกต่อการใช้งานแล้วเรายังได้รับประทานผักปลอดสารพิษอีกด้วย
ธาตุอาหารในปุ๋ยอินทรีย์น้ำ
ปริมาณหรือจำนวนธาตุอาหารที่พบในปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่นำมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำซึ่งในปัจจุบันได้ค้นพบว่าปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่ใช้พืชเป็นวัตถุดิบในการผลิตจะให้แร่ธาตุสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชน้อยกว่าปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่ใช้ส่วนประกอบของสัตว์ในการผลิต
แต่ถึงอย่างไรก็ตามปุ๋ยอินทรีย์น้ำก็มีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชครบเกือบทุกธาตุ ไม่ว่าจะเป็นธาตุอาหารหลักอย่างไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียม และธาตุอาหารรองรวมถึงจุลธาตุที่มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช
ถึงแม้จะมีในปริมาณไม่มากแต่ก็อยู่ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการใช้ของพืช อย่างไรก็แล้วแต่เราควรใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำร่วมกับปุ๋ยเคมีที่ให้ธาตุอาหารหลัก อย่างไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแตสเซียม ร่วมด้วยจะเป็นประโยชน์ต่อพืชอย่างชัดเจนกว่าการใช้ปุ๋ยอย่างใดอย่างหนึ่ง
การ ผลิต ปุ๋ย อินทรีย์ น้ำ
การผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำในปัจจุบันได้มีหน่วยงานนำปุ๋ยอินทรีย์น้ำ หรือน้ําหมักชีวภาพไปทำการทดสอบ เพื่อหาสูตรที่ให้ธาตุอาหารพืชมากที่สุด และพบว่ามีปุ๋ยอินทรีย์น้ำหรือน้ำหมักชีวภาพเพียงไม่กี่สูตรเท่านั้น ที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมต่อการนำมาใช้ ซึ่งวันนี้เราได้นำสูตรการผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำคุณภาพสูงมาฝากผู้ที่สนใจผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำไว้ใช้เอง
นี่คือ 5 สูตรปุ๋ยอินทรีย์น้ำคุณภาพสูง
สูตรที่ 1 น้ำหมักชีวภาพ จากหน่อกล้วย
ใช้ปรับปรุงดิน ปรับสภาพน้ำ ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช เร่งการเจริญเติบโตของพืช ใช้กำจัดกลิ่นเหม็นในคอกสัตว์ย่อยสลายอินทรียวัตถุ และฟางในนาข้าว
วัสดุที่ต้องเตรียม
- หน่อกล้วยต้นเล็กๆ หรือมีใบธงจำนวน 3 ใบ สูงประมาณ 1 เมตร 3 กิโลกรัม
- กากน้ำตาล 1 กิโลกรัม
- น้ำ 1 ลิตร
วิธีการทำ
- นำหน่อกล้วยมาสับให้ละเอียดเป็นชิ้นเล็กๆ สามารถใช้ได้ทั้งราก โดยไม่ต้องล้างน้ำ
- จากนั้นนำหน่อกล้วยที่ได้มาชั่งน้ำหนัก
- ละลายกากน้ำตาลในน้ำ 1 ลิตรคนให้เข้ากัน
- เติมกากน้ำตาลที่ละลายน้ำ 1 ลิตร เทลงถังคลุกเคล้า
- ปิดฝาตั้งไว้ที่ร่ม หมักทิ้งไว้ 7 วัน สามารถนำมาใช้ได้ (เก็บได้นาน 6 เดือน)
การนำไปใช้
- ปุ๋ยอินทรีย์น้ำหรือน้ำหมักชีวภาพจากหน่อกล้วย 20 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร นำมาฉีดพ่น หรือรดต้นไม้ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
- ใช้ปรับปรุงโครงสร้างของดิน ในการใช้แต่ละครั้งไม่ควรเกิน 5 ลิตรต่อไร่
- ปรับปรุงคุณภาพน้ำในร่องสวน ใช้น้ำหมักชีวภาพจากหน่อกล้วย 1 ลิตร ต่อน้ำ 10,000 ลิตร
- ล้างทำความสะอาด คอกสัตว์ ใช้น้ำหมักชีวภาพจากหน่อกล้วย 1 ลิตร ต่อน้ำ 100 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่ว
สูตรที่ 2 น้ำหมักชีวภาพ จากเศษอาหาร
คุณสมบัติในการบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็น ลดกลิ่นเหม็นตามท่อระบายน้ำและทำความสะอาดคอกสัตว์
วัสดุที่ต้องเตรียม
- เศษอาหารในครัวเรือน 3 กิโลกรัม
- กากน้ำตาล 2 กิโลกรัม (หรือน้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม)
- น้ำหมักชีวภาพจากหน่อกล้วย 200 ซีซี (ประมาณ 1 แก้ว) หรือใช้สารเร่ง พด.6
- น้ำ 1 ลิตร (หากเศษอาหารมีน้ำแกงอยู่แล้วไม่ต้องเติมน้ำเปล่าเพิ่ม)
วิธีทำ
- ชั้งน้ำหนักเศษอาหารที่ได้ในครัวเรือน
- เทกากน้ำตาล 2 กิโลกรัม กับน้ำในถังหมัก
- ละลายส่วนผสมให้เข้ากัน
- เทเศษอาหารลงในถังหมัก
- คนส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากัน
- เติมจุลินทรีย์ลงในถัง หมักทิ้งไว้ 14 วัน ผิดฝาตั้งทิ้งไว้ในร่ม
การนำไปใช้
- ใช้บำบัดน้ำเสียและขัดกลิ่นเหม็น อัตราการใช้ 1 ลิตรต่อน้ำเสีย 10 ลูกบาศก์เมตร ทุกๆ 10 วัน
- ใช้ทำความสะอาดพื้นและคอกปศุสัตว์ อัตราการใช้ เจือจางด้วย น้ำ 1 ต่อ 10 ราดให้ทั่วพื้นที่ทุกๆ 3 วัน
สูตรที่3 น้ำหมักชีวภาพ จากนม
ประโยชน์มีกรดแลคติดที่ช่วยทำให้ดินร่วนซุย มีสารส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชกลุ่มออกซิน ไซโตไคนิน ปริมาณธาตุอาหารหลัก และธาตุอาหารรอง ที่ช่วยบำรุงต้น และกระตุ้นยอดอ่อนของพืช
วัสดุที่ต้องเตรียม
- นมสด 10 กิโลกรัม
- กากน้ำตาล 3 กิโลกรัม (หรือน้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม)
- น้ำหมักชีวภาพจากหน่อกล้วย 200 ซีซี (ประมาณ 1 แก้ว)
วิธีการทำ
- นำนมสด ตวงใส่ภาชนะให้ได้ 10 กิโลกรัม
- เทนมสดลงถังหมัก
- จากนั้นเติมน้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม
- เติมจุลินทรีย์หน่อกล้วย 200 ซีซี
- คนส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากัน หมักทิ้งไว้ 14 วัน
- ในกระบวนการหมักจะเกิดการแยกชั้นเป็น 2 ส่วน โดยด้านนมจะเกิดเป็นชั้นไข ด้านล่างเป็นน้ำใส ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้ง 2 ส่วน
การนำไปใช้
ใช้เป็นน้ำยาเร่งราก ตัดชิ้นไขที่เกิดด้านบน 2 ช้อนโต๊ะ เติมน้ำ 10 ลิตร ผสมให้เข้ากัน แล้วนำกิ่งพันธุ์พืชแช่ไว้ประมาณ 10 นาที แล้วจึงนำไปปลูกในถุงปักชำ (ยากยังไม่ใช้สามารถตักชิ้นไขเก็บรักษาในตู้เย็นไว้ได้)
ใช้บำรุงต้น กระตุ้นยอดอ่อน ใช้น้ำหมักฯ ที่เป็นชั้นน้ำใสด้านล่าง อัตรา 10-20 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นด้นพืช สัปดาห์ละครั้ง
สูตรที่ 3 น้ำหมักชีวภาพ จากไข่ (ฮอร์โมนไข่)
วัสดุที่ต้องเตรียม
- ไข่ไก่ทั้งเปลือก 2 กิโลกรัม
- ยาคูลท์ 1 วด
- ลูกแป้งข้าวหมาก 1 ลูก
- น้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม
- น้ำสะอาด 1 ลิตร
วิธีการทำ
- นำไข่ไก่ 2 กิโลกรัม ล้างให้สะอาด ตีให้เข้ากัน ส่วนเปลือกทุบให้ละเอียด ใสา่ภาชนะที่มีฝาปิด
- เติมยาคูลท์ 1 ขวด แล้วคนให้เข้ากัน
- เติมลูกแป้งข้าวหมาก ที่บดละเอียดแล้ว 1 ลูก
- เติมน้ำตาลทรายแดง คนให้ละลายเข้ากันกับไข่
- เติมน้ำสะอาดลงไป 1 ลิตร คนให้เข้ากัน
- คลุกเคล้าให้เข้ากัน หมักทิ้งไว้ 14 วัน จึงนำไปใช้
การนำไปใช้
น้ำหมักชีวภาพจากไข่ 10-20 ซีซี ผสมน้ำหมักชีวภาพจากหน่อกล้วย 10-20 ซีซี ในน้ำ 20 ลิตร รดลงดินหรือฉีดพ่นได้กับพืชทุกชนิด สัปดาห์ละครั้ง
ใช้กับสัตว์ 1 ซีซีต่อน้ำ 5 ลิตร คลุกให้หัวอาหารหรือผสมน้ำ
สูตรที่ 4 น้ำหมักชีวภาพ สูตรเข้มข้น (อาหารจานด่วน)
ช่วยให้ดินนาข้าวร่วนซุย และทำให้ต้นข้าวสามารถเจริญเติบโตได้ดี อีกทั้งยังเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ต้นข้าวอีกด้วย
วัสดุที่ต้องเตรียม
- น้ำหมักชีวภาพนม 3 ลิตร
- น้ำหมักชีวภาพจากไข่ 1 ลิตร (ฮอร์โมนไข่)
- น้ำหมักชีวภาพจากหน่อกล้วย 1 ลิตร (จุลินทรีย์หน้อกล้วย)
วิธีการทำ
- นำนมหมัก 3 ลิตร เมลงถังที่มีฝาปิด
- เติมจุลินทรีย์หน่อกล้วย 1 ลิตร
- จากนั้นเติมฮอร์โมนไข่ 1 ลิตร คนให้เข้ากัน
- หมักทิ้งไว้ 14 วัน (ปิดฝาไม่ต้องสนิทและตั้งไว้ในที่ร่ม) หมั่นคนทุกวันเมื่อครบ 14 วัน ก็สามารถนำไปใช้ได้
การนำไปใช้
- พืชทั่วไป ใช้อัตรา 10-20 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทางใบทุก 10 วัน
- พืชตระกูลส้ม มะนาว ใช้อัตรา 50 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นหรือรถลงดิน ทุก 1 เดือน ช่วงกำลังเจริญเติบโต ก่อนออกดอกและช่วงติดผล
- ข้าว ช่วงเตรียมดินใช้อัตรา 5 ลิตร ผสมน้ำ 1,000 ลิตร ต่อไร่ ฉีดพ่นหรือรดลงดิน ระหว่างเตรียมดินหรือก่อนไถกลบตอซัง แล้วไถพรวนทิ้งไว้ 15 วัน ช่วงการเจริญเติบโต ใช้อัตรา 5 ลิตรต่อไร่ เมื่อข้าวอายุ 30 50 และ 60 วัน โดยเทลงนาข้าวพร้อมการไขน้ำเข้าแปลงนา
สูตรที่ 5 น้ำหมักชีวภาพจากผลไม้ (ฮอร์โมนผลไม้สุก กระตุ้นการเจริญเติบโต)
เนื่องจากในผลไม้สุกมีฮอร์โมนที่มีความสามารถเร่งการเจริญเติบโตในพืชจำนวนมาก จึงได้มีการประยุกต์นำผลไม้สุกมาทำเป็นน้ำหมัก หรือฮอร์โมนผลไม้เพื่อใช้กระตุ้นการเจริญเติบโตในพืช และเสริมสร้างความแข็งแรง บำรุงดิน ส่งเสริมคุณภาพผลผลิต ในการทำเกษตร โดยสามารถใช้ EM ผลไม้ทดแทนการซื้อฮอร์โมนสังเคราะห์ อาทิเช่น จิ๊บเบอร์ลิน ออกซิน ไซโตไคนิน ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้ช่วยเร่งการเจริญเติบโตในพืชทุกชนิด ดังนั้นการนำผลไม้สุกมาทำน้ำหมักชีวภาพโดยใช้จุลินทรีย์ช่วยย่อยสลาย ได้น้ำหมักชีวภาพที่มีฮอร์โมนช่วยเร่งการเจริญเติบโตในพืช ช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก ซึ่งสูตรการทำฮอร์โมนผลไม้สุกก็ไม่มีอะไรยุ่งยากมีวิธีการผลิตดังต่อไปนี้
ส่วนผสมโดยประมาณ
- กล้วยน้ำว้าสุก จำนวน 2 กิโลกรัม
- ฟักทองแก่จัด จำนวน 2 กิโลกรัม
- มะละกอสุก จำนวน 2 กิโลกรัม
- EM จำนวน 40 ซีซี
- กากน้ำตาล จำนวน 40 ซีซี
- น้ำสะอาด จำนวน 10 ลิตร
วิธีการทำ
สับกล้วย ฟักทอง และ มะละกอทั้งเปลือกและเมล็ดให้เป็นชิ้นเล็กๆ นำไปใส่ในภาชนะหมักขนาดบรรจุ 20 ลิตรเท อีเอ็ม กากน้ำตาล และ น้ำตาม ลงไป คลุกเคล้าให้เข้ากัน ปิดฝา ตั้งทิ้งไว้ในที่ร่ม นาน 7 วัน เมื่อครบกำหนดให้กรองเอาแต่น้ำหมัก ใส่ขวดพลาสติกแบบมีฝาปิดแน่น เพื่อเก็บไว้ใช้งาน ตั้งวางขวดน้ำหมักไว้ที่อุณหภูมิห้อง ไม่มีแสงแดดส่องถึง สามารถเก็บไว้ใช้ได้นาน ประมาณ 3 เดือน ส่วนกากเหลือจากการหมัก ให้นำไปฝังดินกลบเป็นปุ๋ยพืช
การนำน้ำหมักไปใช้กับพืช
สามารถใช้เช่นเดียวกับฮอร์โมนสังเคราะห์ดังกล่าวข่างต้น โดย นำน้ำฮอร์โมน อัตรา 20 ซีซี หรือ ประมาณ 2 ช้อนโต๊ะผสมกับน้ำสะอาด จำนวน 5 ลิตร ฉีดพ่น หรือ รดต้นไม้ จะช่วยให้ต้นไม้ติดดอกออกผลได้ดี ยิ่งใช้ในช่วงต้นไม้ใกล้ออกดอกให้ผล ยิ่งมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หรือนำส่วนที่เป็นไขมันเหลืองๆ ในถังหมัก ไปใช้ทากิ่งตอน กิ่งชำ ใช้ลักษณะเดียวกับออกซิน จะช่วยเร่งการแตกร่างของกิ่งปักชำและกิ่งตอนได้ดีมาก
ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์ศึกษาและพัฒนเขาหินซ้อน (http://www.khaohinsorn.com/)